BBC Micro:bit Overview

แนะนำบอร์ด BBC Micro:bit ในเบื้องต้น และซอฟต์แวร์สำหรับฝึกเขียนโปรแกรม

บอร์ดไมโครบิต

Python (ไพธอน) เป็นภาษาคอมพิวเตอร์หนึ่งในหลายภาษาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ได้เริ่มเผยแพร่มาตั้งแต่ราวปีค.ศ. 1991 ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดย Guido Van Rossum และหลายคนก็คิดว่า เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ที่ง่ายต่อการเรียนรู้สำหรับผู้เริ่มต้น

ไพธอนเป็นซอฟต์แวร์ประเภท Open Source มีการแบ่งออกเป็นสองเวอร์ชันคือ Python 2 และ Python 3 (แต่สำหรับ Python 2 ไม่มีการพัฒนาต่อไป ตั้งแต่ 1 มกราคม ค.ศ. 2020)

ในปัจจุบันก็มีตัวเลือกหลากหลายสำหรับซอฟต์แวร์ประเภท IDE ที่รองรับการเขียนโค้ดภาษานี้ และใช้งานได้ฟรี ทั้งแบบ Offline และ Online (Web-based/Cloud-based IDE)

คำถาม: ถ้าอยากจะใช้ภาษา Python 3 และเขียนโค้ดเพื่อใช้งานสำหรับไมโครคอนโทรลเลอร์ จะเป็นไปได้หรือไม่ ?

ในเดือนมีนาคมปีค.ศ. 2015 ทาง BBC (British Broadcasting Corp.) ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สื่อสาธารณะของสหราชอาณาจักร ได้เปิดตัวโครงการบอร์ด BBC Micro:bit (ไมโครบิต) ภายใต้ชื่อ BBC’s Make It Digital Campaign โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งและวิทยาการคำนวณให้แก่เยาวชน และมีการแจกจ่ายบอร์ดไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศอังกฤษ

บอร์ดไมโครบิต มีชิป nRF51822 (32-bit ARM Cortex-M0) ของบริษัท Nordic Semiconductor เป็นตัวประมวลผลหลัก มีหน่วยความจำแบบ Flash ขนาด 256 KB หน่วยความจำแบบ SRAM ขนาด 16 KB และใช้ความเร็วในประมวลผลที่ความถี่ 16 MHz

บอร์ดไมโครบิตใช้แรงดันไฟเลี้ยงจากพอร์ต microUSB (5V) แต่วงจรบนบอร์ดนั้นทำงานที่ระดับแรงดัน 3.3V หรือจะใช้แบตเตอรี 3V (2x 1.5V) ต่อเข้าที่ช่อง Battery Connector (ระวังการต่อกลับขั้ว + และ -) เป็นแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงแทน USB ก็ได้ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Micro:bit Power Supply)

ผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดในเชิงฮาร์ดแวร์ของบอร์ดไมโครบิตได้จาก https://tech.microbit.org/hardware/

Micro:Bit Schematic Files (PDF)

ทางผู้พัฒนาได้แชร์ไฟล์ Schematic เช่น สำหรับบอร์ดเวอร์ชัน v1.3B และ v1.5 (ให้ลองศึกษาผังวงจรของบอร์ดไมโครบิต เพื่อเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ด้านระบบสมองกลฝังตัว)

ข้อสังเกต: ขอบด้านหนึ่งของบอร์ดไมโครบิต เป็นบริเวณที่เรียกว่า Edge Connector และมีทั้งสองด้าน (Front & Back Side) แต่ไม่เหมือนขา Pin Header แบบทั่วไป ขามีลักษณะเป็น Pads มีสองขนาด ขาที่มีขนาดใหญ่กว่าปรกติ และมีการเจาะรูขนาด 4 มม. ได้แก่ 0, 1, 2 (หรือ P0, P1, P2) ซึ่งเป็นขา I/O (เรียกว่า Touch Pads) และ 3V กับ GND สามารถนำใช้เพื่อจ่ายแรงดันไฟเลี้ยง +3.3V ให้อุปกรณ์อื่นได้ (แต่ต้องใช้ปริมาณกระแสไม่มาก โดยรวมไม่ควรเกิน 100 mA)

ข้อสังเกต: ขา P0, P1, P2 (หรือ PAD1, PAD2, PAD3) สามารถใช้เป็นขา Touch Input ได้ เนื่องจากมีตัวต้านทานขนาด 10 เมกกะโอห์ม ที่ขาเหล่านั้นต่อไปยัง VCC (+3.3V)

ในการต่อวงจรภายนอก อาจจำเป็นต้องใช้โมดูลเสริม เพื่อนำบอร์ดไมโครบิตมาเสียบเข้าที่บริเวณ Edge Connector ในปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่ผลิตโมดูลหรืออุปกรณ์เสริมประเภทนี้ออกมาจำหน่าย ดังนั้นควรศึกษาคู่มือการใช้งาน ก่อนนำมาใช้สำหรับการต่อวงจร

ในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2020 ทาง Micro:bit Educational Foundation ได้เปิดตัวบอร์ดไมโครบิตเวอร์ชันใหม่ (Micro:bit V2 Revision) ที่แตกต่างหรืออัปเกรดจากเวอร์ชันแรก เช่น การเลือกใช้ตัวประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น คือ nRF52833 (64MHz Cortex-M4F, 512kB Flash, 128kB RAM) ซึ่งรองรับการสื่อสารไร้สายคลื่น 2.4GHz เช่น Bluetooth 5.0 / Bluetooth Mesh, Thread, Zigbee บอร์ดรุ่นใหม่นี้ได้เพิ่มไอซีประเภท MEMS Microphone สำหรับใช้เป็นไมโครโฟนดิจิทัลรับสัญญาณเสียง และมีลำโพงเสียง (Onboard Speaker) เป็นต้น แต่ยังคงขนาดและส่วนเชื่อมต่อ Edge Connector ให้เหมือนเวอร์ชันแรก

ตัวเลือกสำหรับการเขียนโค้ด

รูปแบบการเขียนโปรแกรมสำหรับไมโครบิตที่คนส่วนใหญ่รู้จักและใช้งานกัน เป็นวิธีการต่อบล็อก (Block-based Coding) บนหน้าเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งจะถูกแปลงให้เป็นโค้ดในภาษา Static TypeScript (STS) และไฟล์ .hex ได้โดยอัตโนมัติ การทำงานในส่วนนี้เป็นผลงานโดยทีมวิจัยของบริษัท Microsoft ภายใต้โปรเจกต์ที่มีชื่อว่า MakeCode หรือ PXT (Programming Experience Toolkit)

ข้อดีของการใช้งาน Microsoft MakeCode สำหรับผู้เริ่มต้นคือ สามารถใช้วิธีการเขียนโค้ดแบบต่อบล็อกซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย ถัดไปสามารถเรียนรู้ตัวอย่างการเขียนโค้ดด้วยภาษา JavaScript / Static TypeScript หรือ Python สำหรับไมโครบิต ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสองรูปแบบในการเขียนโค้ดได้ (Visual และ Text-based)

ในปี ค.ศ. 2015 ราวเดือนตุลาคม Damien George ก็ได้เผยแพร่เวอร์ชันของ MicroPython (ไมโครไพธอน) ที่สามารถใช้งานร่วมกับบอร์ดไมโครบิตได้ นอกจากนั้นได้มีการพัฒนา Web App เป็น Online MicroPython Editor ให้ผู้ใช้สามารถเขียนโค้ด โดยใช้เว็บเบราว์เซอร์ได้ด้วย ดังนั้นภาษาไมโครไพธอน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับบอร์ดไมโครบิต

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสารออนไลน์ (Online Documentation) ที่ทางทีมผู้พัฒนาได้จัดทำไว้ เช่น

ตัวเลือกซอฟต์แวร์ IDE สำหรับเขียนโค้ด

หลังจากได้ติดตั้งไฟล์เฟิร์มแวร์ของไมโครไพธอนไว้ในหน่วยความจำ Flash ของบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์แล้ว เราสามารถใช้วิธีสื่อสารผ่านทาง USB-to-Serial ระหว่างบอร์ดไมโครบิตกับคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ เช่น การทำคำสั่งหรือรันโค้ดผ่านทางรูปแบบที่เรียกว่า REPL prompt (Read Evaluate Print Loop) และการสร้างไฟล์ใหม่ แก้ไขและบันทึกไฟล์ .py ไว้ในระบบไฟล์ (Flash-based File System) ของไมโครไพธอน เป็นต้น

ในปัจจุบันก็มีหลายตัวเลือกในกลุ่มซอฟต์แวร์ประเภท Editors / IDEs ที่ใช้งานได้ จำแนกออกเป็นประเภท Offline (ต้องติดตั้งโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้) และ Online (ใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์) และในบางกรณีเราก็สามารถจำลองการทำงานของโค้ดโดยไม่จำเป็นต้องใช้ฮาร์ดแวร์จริงได้

ซอฟต์แวร์ที่เป็น Web App อย่างเช่น Python Editor for Micro:bit (Source Code) และ Microsoft MakeCode for Micro:bit (Source Code) ทำงานโดยใช้เว็บเบราว์เซอร์ เช่น Chrome บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ และเมื่อเสียบสาย USB เชื่อมต่อกับบอร์ด เราก็สามารถดาวน์โหลดโค้ดที่เขียนไปยังบอร์ดไมโครบิตทางผ่าน WebUSB ได้ค่อนข้างสะดวก

Python Editor for Micro:bit เหมาะสำหรับการฝึกเขียนโค้ดด้วยภาษา MicroPython และทดสอบการทำงานของโค้ดโดยใช้บอร์ดไมโครบิต ในขณะที่ Microsoft MakeCode for Micro:bit สามารถเขียนโค้ดด้วยวิธีการต่อบล็อก (ฺBlock Mode) หรือเลือกเขียนโค้ด (Text Mode) ในโหมดภาษา Python (แต่ MakeCode Python ใช้ชุดคำสั่งและมีหลักการทำงานที่แตกต่างจาก MicroPython for Micro:bit) หรือใช้ภาษา Static TypeScript (STS) อย่างใดอย่างหนึ่งได้ อีกทั้งสามารถจำลองการทำงานได้ด้วย (มี built-in Simulator)

Thonny IDE และ Mu Editor สามารถนำมาใช้เป็น IDE แบบ Offline สำหรับเขียนโค้ดไมโครไพธอน สามารถได้กับบอร์ดไมโครบิต บอร์ด STM32 และบอร์ด ESP32 เป็นต้น เพื่อทดสอบการทำงานของโค้ดด้วยฮาร์ดแวร์จริง

ถ้าเลือกใช้ Microsoft VS Code + Device Simulator Express Extension เป็น IDE สำหรับเขียนโค้ดไมโครไพธอน ก็อาจดูซับซ้อนกว่า แต่ก็จำลองการทำงานของโค้ดได้เช่นกัน

ชุดคำสั่งของไมโครไพธอนสำหรับไมโครบิต

ชุดคำสั่ง (API) ของไมโครไพธอนสำหรับไมโครบิต แบ่งเป็นกลุ่มตามฟังก์ชันการทำงานได้ดังนี้

  • Display เป็นกลุ่มคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการแสดงผลบนแผง 5x5 LED Matrix (Screen) สีแดงขนาดเล็ก (มีลักษณะเป็น SMD LEDs) บนบอร์ดไมโครบิต (อยู่ด้านที่เรียกว่า ด้านหน้า หรือ Front Side) เช่น ใช้ในการแสดงตัวเลข หรือข้อความแบบเลื่อนไป

  • Images เป็นกลุ่มคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดชื่อของรูปกราฟิกหรือไอคอนที่ได้มีการประกาศใช้งานไว้แล้ว

  • Buttons เป็นกลุ่มคำสั่งเกี่ยวข้องกับปุ่มกดบนบอร์ดไมโครบิต (มีสองปุ่มได้แก่ A และ B) เช่น ตรวจสอบดูว่า มีการกดปุ่ม A หรือ B หรือไม่ หรือระบุว่า มีการกดปุ่มไปแล้วกี่ครั้งหลังจากที่ได้ตรวจสอบไปคราวที่แล้ว เป็นต้น

  • Input/Output หรือ Pins กลุ่มคำสั่งเกี่ยวกับการใช้งานขา I/O ที่ Edge Connector ของบอร์ดไมโครบิต เช่น การกำหนดค่าให้ขาเอาต์พุต-ดิจิทัล การอ่านค่าจากขาอินพุต-ดิจิทัล การอ่านค่าจากขาอินพุต-แอนะล็อก การสร้างสัญญาณเอาต์พุตแบบ PWM และการตรวจสอบสถานะของขาแบบสัมผัส เป็นต้น

  • Music เป็นกลุ่มคำสั่งเกี่ยวกับการสร้างสัญญาณเอาต์พุตให้เป็นเสียงดนตรี เมื่อนำไปต่อกับวงจรประเภทบัซเซอร์เสียง (Sound Buzzer)

  • Movement การอ่านค่าจากไอซีวัดความเร่งแบบสามแกน (Accelerometer) ในแกน x, y, z ค่าที่อ่านได้มีหน่วยเป็น 1/1000 ของค่า g (หรือ milli-g)

  • Gestures เป็นกลุ่มคำสั่งที่ใช้ Accelerometer (ไอซีตรวจวัดความเร่ง) ตรวจสอบท่าทางแบบต่าง ๆ ของบอร์ด เช่น การเอียง การวางคว่ำหรือหงายของบอร์ด การเขย่าบอร์ด เป็นต้น

  • Compass เป็นกลุ่มคำสั่งสำหรับการอ่านค่าจากไอซีเข็มทิศแบบดิจิทัล (Digital Compass)

  • I2C เป็นกลุ่มคำสั่งสำหรับการสื่อสารข้อมูลกับอุปกรณ์อื่นด้วยบัส I2C โดยใช้ขาสัญญาณเพียง 2 เส้นคือ SCL (Serial Clock Line) และ SDA (Serial Data Line) และสามารถนำไปใช้เชื่อมต่อเพื่อรับส่งข้อมูลกับอุปกรณ์หรือโมดูลอิเล็กทรอนิกส์ได้หลายชนิด เช่น โมดูลเซ็นเซอร์ เป็นต้น

  • SPI เป็นกลุ่มคำสั่งสำหรับการสื่อสารข้อมูลกับอุปกรณ์อื่นด้วยบัส SPI โดยใช้ขาสัญญาณ 3 เส้น ได้แก่ SCK (Serial Clock), MOSI (Master-Out-Slave-In) และ MISO (Master-In-Slave-Out) โดยทั่วไปแล้วก็จะมีอัตราการรับหรือส่งข้อมูลได้สูงกว่าบัส I2C

  • UART เป็นกลุ่มคำสั่งสำหรับการสื่อสารข้อมูลกับอุปกรณ์อื่นแบบบิตอนุกรม (Serial) แบบไม่ต้องมีสัญญาณ Clock ควบคุม โดยใช้ขาสัญญาณ TX (ข้อมูลบิตส่งออก) และ RX (ข้อมูลบิตรับเข้า)

  • Radio เป็นกลุ่มคำสั่งสำหรับการติดต่อสื่อสารแบบไร้สายระหว่างบอร์ดไมโครบิตด้วย Bluetooth แม้ว่าบอร์ดไมโครบิตไม่ได้รองรับการใช้งานผ่าน Wi-Fi แต่การใช้ Bluetooth ก็ช่วยให้บอร์ดไมโครบิตสามารถสื่อสารกันเอง หรือสื่อสารกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้

ผู้อ่านสามารถศึกษาคำสั่งต่าง ๆ ได้จากเอกสาร "BBC micro:bit MicroPython Documentation" (PDF) และเวอร์ชันปัจจุบัน (ขณะที่จัดทำ Gitbook นี้) คือ Release 1.0.1 (Aug 24, 2020) จำนวน 139 หน้า หรือจะศึกษาจากเอกสารออนไลน์บนหน้าเว็บ

การใช้งาน Python Editor for Micro:bit

มีขั้นตอนดังนี้

  • ให้เปิดเว็บเบราว์เซอร์ เช่น Google Chrome แล้วไปที่เว็บ https://python.microbit.org/v/2.0 หรือ https://python.microbit.org/v/beta (ถ้าต้องการลองใช้เวอร์ชัน Beta)

  • เสียบบอร์ดไมโครบิตกับคอมพิวเตอร์ด้วยสาย USB จากนั้นจะปรากฏ Drive ชื่อ MICROBIT ในเครื่องคอมพิวเตอร์

  • ในแถบเมนูที่เป็นปุ่มกดของ Python Editor ให้กดปุ่ม Connect เพื่อเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้กับบอร์ดไมโครบิต จากนั้นจะมี Pop-up window แสดงข้อความว่า "BBC micro:bit CMSIS-DAP": paired และให้กดปุ่ม Connect (ถ้าเชื่อมต่อได้ ชื่อปุ่มจะเปลี่ยนจาก Connect เป็น Disconnect)

  • เมื่อเชื่อมต่อได้แล้ว ให้ลองใช้โค้ดตัวอย่าง และหลังจากได้เขียนโค้ดในบริเวณ Code Editor แล้ว ให้ตั้งชื่อไฟล์ในช่อง Script Name สำหรับโค้ดดังกล่าว

  • กดปุ่ม Flash เพื่อทำการคอมไพล์โค้ด และอัปโหลดไปยังบอร์ด

  • ผู้ใช้สามารถบันทึกการแก้ไขลงไฟล์ (เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้) โดยกดปุ่ม Save หรือถ้าต้องการเปิดไฟล์แก้ไข ก็ให้กดปุ่ม Load เป็นต้น

  • หรือจะโหลดไฟล์ .hex ที่ได้จากการแปลงโค้ดไมโครไพธอน มาเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่างโค้ดสาธิตที่แสดงข้อความและรูปสัญลักษณ์ (หัวใจ) บน 5x5 LED Matrix Display

from microbit import *

while True:
    display.scroll('Hello, World!')
    display.show(Image.HEART)
    sleep(2000)

หลังจากได้ลองใช้ Python Editor แล้ว ถัดไปก็ให้ศึกษาและทดลอง้โค้ดตัวอย่าง โดยใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จริง (บอร์ดไมโครบิต) ให้เชื่อมต่อกับบอร์ดและอัปโหลดโค้ดตัวอย่าง (หรือการทำขั้นตอน Flashing สำหรับไฟล์ .hex) ได้แล้ว ถ้าเราลองกดปุ่ม Open Serial จะเปลี่ยนไปหน้าสำหรับ REPL และถ้ากดปุ่ม Ctrl+C จะเข้าสู่โหมด REPL Shell และจะสังเกตเห็นสัญลักษณ์ >>> จากนั้นก็สามารถลองทำคำสั่งในภาษาไพธอนได้ ถ้าต้องการกลับไปสู่หน้า Code Editor และออกจาก REPL Shell ก็ให้กดปุ่ม Close Serial

นอกจากความสามารถในการทดลองคำสั่งต่าง ๆ และรันโค้ดโดยใช้บอร์ดไมโครบิตได้ทันทีแล้ว ประโยชน์อีกประการหนึ่งของ REPL Shell คือ ถ้าเรารันโค้ดไพธอนแล้วเกิดปัญหา Runtime Error เราสามารถเปิดดูข้อความใน REPL ผ่านทาง Serial ได้ เช่น ในกรณีที่ได้เขียนโค้ดไม่ถูกต้อง (Invalid Syntax) จะมีการระบุหมายเลขบรรทัดของโค้ดที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด เพื่อให้เราตรวจสอบและแก้ไข

การใช้งาน Python Editor for Micro:bit แบบ Offline

ถ้าต้องการทดลองใช้งาน Python Editor แบบ Offline (เช่น ระบบปฏิบัติการ Windows หรือ Linux) สำหรับบอร์ดไมโครบิต ก็สามารถทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในเอกสาร https://github.com/bbcmicrobit/PythonEditor

สำหรับผู้ใช้ Windows 10 แนะนำให้ติดตั้งใช้งาน WSL/WSL2 Ubuntu for Windows จากนั้นจึงทำคำสั่งเพื่อติดตั้งและเปิดใช้งาน Python Editor (http://localhost:8000/editor.html)

การใช้งาน Mu Editor สำหรับไมโครบิต

ถ้ายังไม่เคยติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์ Mu Editor ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ ให้ดาวน์โหลดไฟล์และติดตั้งให้พร้อมใช้งานก่อน (เช่น สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows, Mac OS X หรือ Raspbian เป็นต้น)

เมื่อได้เชื่อมต่อบอร์ดไมโครบิตกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และเปิดใช้งานโปรแกรมนี้ จะมีการเลือกโหมดการทำงานสำหรับ BBC Micro:bit โดยอัตโนมัติ

ส่วนบนในหน้าต่างหลักของ Mu Editor เป็นแถบเมนูคำสั่ง หรือ ปุ่มไอคอน เช่น Mode, New, Load, Save, Flash, Files, REPL เป็นต้น

  • ถ้าจะสร้างไฟล์ใหม่เพื่อเขียนโค้ด ก็ให้กดปุ่ม New

  • เมื่อเขียนหรือแก้ไขโค้ดไมโครไพธอนลงในบริเวณ Code Editor Tab แล้วบันทึกลงไฟล์ โดยกดปุ่ม Save

  • ถ้าต้องการทดสอบการทำงานของโค้ด ให้อัปโหลดไปยังบอร์ดไมโครบิต โดยกดปุ่ม Flash (โค้ดที่ถูกอัปโหลดไปนั้น จะบันทึกลงในไฟล์ชื่อ main.py เก็บไว้ใน Flash Storage ของอุปกรณ์ไมโครบิต)

  • ถ้าต้องการดูรายการในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ และรายการไฟล์ใน Flash Storage ของอุปกรณ์ (ในหน่วยความจำของบอร์ดไมโครบิต) ให้กดปุ่ม Files จะมีการแสดงรายการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม (แบ่งเป็นด้านซ้ายกับขวามือ) เราสามารถเลือกไฟล์จากกลุ่มหนึ่ง ลากไปวางใส่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นการสำเนาไฟล์ระหว่างคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ไมโครบิต

  • ถ้าต้องการเปิด REPL Shell เช่น เพื่อทำคำสั่ง หรือดูข้อความเอาต์พุตจากการทำงานของไมโครบิต ให้กดปุ่ม REPL

การติดตั้งเฟิร์มแวร์ไมโครไพธอนโดยใช้ Thonny IDE

ถ้ายังไม่เคยใช้งานมาก่อน การติดตั้งเฟิร์มแวร์สำหรับไมโครไพธอนไปยังบอร์ดไมโครบิต สามารถทำได้ง่าย เช่น โดยใช้วิธีการลากไฟล์ .hex ไปใส่ลงในไดร์ฟชื่อ MICROBIT เมื่อเสียบสาย USB เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์

อีกวิธีหนึ่งคือ การใช้โปรแกรม Thonny IDE ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  1. เปิดใช้งาน Thonny IDE (ในตัวอย่างนี้ใช้กับ Ubuntu)

  2. เสียบสาย USB เชื่อมต่อบอร์ดไมโครบิตกับคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้

  3. เลือกเมนู Run > Select Interpreter จะปรากฏ Tab ให้เลือก "MicroPython (BBC Micro:bit)" และเลือก Port ที่ตรงกับบอร์ดไมโครบิต

  4. จากนั้นกดปุ่ม "Open the dialog for installing or upgrading Micropython on your device" จากนั้นจะปรากฏหน้าต่าง Dialog ใหม่ ให้กดปุ่ม Install แล้วรอจนเสร็จขั้นตอน

กล่าวสรุป

บอร์ด BBC Micro:bit เป็นหนึ่งตัวอย่างของบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีการนำมาใช้ในโรงเรียนสำหรับฝึกเขียนโค้ดโดยเริ่มต้นด้วยวิธีการต่อบล็อก ดังนั้นการฝึกเขียนโค้ดภาษาไพธอน (ไมโครไพธอน) และการนำมาใช้งานร่วมกับอร์ดไมโครบิตได้ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเรียนรู้ที่น่าสนใจ

เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Attribution-ShareAlike 4.0 International (CC BY-SA 4.0)

Last updated